ผมเป็นล่ามทีมเกาหลี

รูปโอมไปเที่ยวและพี่ๆรับปริญญาคับ

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การจัดระบบการเรียนรู้

ระบบและระบบการเรียนการสอน
เมื่อมนุษย์เราประสบปัญหาต่างๆ ในการปฏิบัติงาน ก็มักจะกล่าวกันว่า ทำงานไม่มีระบบจึงทำให้งานไม่ประสบความสำเร็จ หรือหน่วยงานบางแห่งประสบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ ก็ต้องนำระบบเข้าไปช่วยในการแก้ปัญหา ดังนั้นจะเห็นได้ว่า " ระบบ " มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์



ความหมาย " ระบบ "

ชัยยงค์ พรหมวงศ์(2520) ได้ให้นิยามว่า ระบบ หมายถึง ผลรวมของหน่วยย่อยซึ่งทำงานเป็นอิสระต่อกัน แต่มีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อช่วยให้งานนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

เปรื่อง กุมุท (2518) ระบบ หมายถึง "ภาพส่วนรวมของโครงสร้างหรือขบวนการอย่างหนึ่งที่มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ที่รวมกันอยู่ในโครงการ หรือขบวนการนั้น"

เบนาที (Banathy, 1968) ระบบ หมายถึง การรวบรวมสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่มนุษย์ได้ออกแบบ และสร้างขึ้น เพื่อจัดดำเนินงานให้บรรลุเป้าที่วางไว้

อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ระบบ หมายถึง ส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นโดยที่ส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นโดยส่วนต่างๆเหล่านั้น สามารถทำงานได้อย่างอิสระ แต่มีปฏิสัมพันธ์ในการดำเนินงาน เพื่อแก้ปัญหาหรือช่วยให้การทำงานนั้นบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้


ดังเช่น ระบบการศึกษา อาจประกอบด้วยหน่วยย่อยๆ หลายหน่วย เช่น การสอนการเรียน การบริหารงาน อาคารสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เมื่อหน่วยย่อยๆ เหล่านี้ ต่างก็ดำเนินงานตามหน้าที่ของตน เช่นการสอน ครูก็ทำหน้าที่สอน การเรียน นักเรียนก็ทำหน้าที่เรียน ศึกษาหาความรู้ งานบริหาร ผู้บริหารก็ทำหน้าที่วางแผนงาน เพื่อให้งานดำเนินไปด้วยดี รวมทั้งงานของอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเหล่านี้ ได้มีการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีความสัมพันธ์กันแล้วก็จะสามารถช่วยให้ระบบการศึกษานั้นบรรลุเป้าหมายที่วางไว้และมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าหน่วยย่อยใดหน่วยย่อยหนึ่ง ไม่สามารถปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติงานไม่สัมพันธ์กับหน่วยอื่นๆ ก็มีผลทำให้ระบบงานนั้นไม่สามารถทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบระบบ และปรับปรุงระบบย่อยๆ โดยการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ขึ้น เพื่อปรับปรุง หรือเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานนั้นๆ ซึ่งเราเรียกว่า " การจัดระบบ "

ความหมายของการจัดระบบ
การจัดระบบ เป็นการกำหนดขั้นตอนของการดำเนินงาน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานหรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงาน โดยการรวบรวมปัญหา รวบรวมข้อมูล วิธีการต่างๆ เพื่อนำมาแก้ปัญหา เลือกวิธีการและดำเนินงานต่างๆ ประเมินผลแล้วนำไปปรับปรุง


จากความหมายของการจัดระบบดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในการจัดระบบนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้ คือ


Input : ข้อมูลที่ป้อนเข้าไป เป็นขั้นตอนซึ่งเป็นการ สำรวจปัญหา และความต้องการต่างๆ ของหน่วยงาน โดยรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ เป็นทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการพิจารณา ไตร่ตรองเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และนำมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน


Process : เป็นกระบวนการที่ได้วางแผน และดำเนินงานตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมา


Output : เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินงาน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในขั้นนี้ควรมีการตรวจสอบว่า ผลลัพธ์มีความเชื่อถือเพียงใด โดยการทดลอง หรือทดสอบดูความถูกต้อง โดยพิจารณาจากผลย้อนกลับ (Feedback) ว่าเกิดความบกพร่องขึ้นจุดใด เช่น กระบวนการไม่เหมาะสม หรือข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์นั้นไม่เพียงพอ เพื่อนำส่วนที่ยังเป็นปัญหาเหล่านี้ มาปรับปรุงแก้ไขให้ได้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น

จากองค์ประกอบดังกล่าว สามารถเขียนเป็นแบบจำลองของการจัดระบบได้ดังนี้


ขั้นตอนการจัดระบบ
จากความหมายของการจัดระบบ และองค์ประกอบของระบบนั้น สามารถนำมาจัดเป็น ขั้นตอนของการจัดระบบ โดยแบ่งเป็น 4 ขั้น ดังนี้


ขั้นที่ 1 วิเคราะห์ระบบ (System Analysis) เป็นการสำรวจ แจกแจงและวิเคราะห์ปัญหา เพื่อนำข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นมากำหนดวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ลำดับต่อมาวิเคราะห์และกำหนดภาระหน้าที่ต่างๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และวิเคราะห์งานที่ต้องปฏิบัติให้เหมาะสมกับหน้าที่ โดยแบ่งเป็น 4 ประการคือ

1) วิเคราะห์แนวการปฏิบัติงาน คือ การพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย กำหนดแนวทางในการปฏิบัติงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรค ข้อบกพร่องต่างๆ
2) วิเคราะห์หน้าที่ (Function Analysis) เป็นการกำหนดหน้าที่ต่างๆ โดยละเอียด เพื่อสะดวกต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างครบถ้วน
3) วิเคราะห์งาน (Task Analysis) เป็นการกำหนด แยกแยะรายละเอียดในหน้าที่
4) การวิเคราะห์วิธีการและตัวเลข (Methods and Mean Analysis) เป็นการกำหนดหลักการ หรือตัวกลางที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมาย

เมื่อเราวิเคราะห์ระบบแล้วก็จะได้ข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว ที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหา และดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ขั้นที่2 สังเคราะห์ระบบ เป็นวิธีการที่นำข้อมูลที่ได้ วิเคราะห์ จัดองค์การต่างๆให้มีความสัมพันธ์กัน โดยการเลือกวิธีการที่จะนำไปใช้ นิยมเขียนในรูปแบบจำลองระบบ โดยการเขียน เป็นแบบจำลอง ซึ่งสามารถเขียนได้ดังนี้

ขั้นที่ 3 สร้างแบบจำลองระบบ เป็นวิธีการที่นำเสนอระบบที่จะสะดวกต่อการนำไปใช้ นิยมเขียนแบบจำลองระบบ โดยการเขียนแบบจำลองซึ่งสามารถเขียนได้ดังนี้

แบบที่1 เขียนตามแนวนอน



แบบที่ 2 เขียนตามแนวตั้ง



แบบที่ 3 เขียนแบบแนวตั้งผสมแนวนอน



แบบที่ 4 เขียนแบบวงกลมและวงรี



แบบที่ 5 แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์



ขั้นที่ 4 ทดสอบระบบในสถานการณ์จำลอง เป็นการทดลองนำแบบจำลองระบบไปใช้ในสถานการณ์จำลองที่สร้างขึ้น หากสามารถนำไปแก้ปัญหาได้ หรือต้องการมีการปรับปรุงแล้วนำไปแก้ไขปรับปรุงส่วนที่บกพร่อง หากสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จำลองได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ระบบนั้น ก็สามารถไปใช้ในสถานการณ์จริงได้


คุณค่าของการจัดระบบ
ถ้านำระบบที่ออกแบบได้เหมาะสมมาใช้ในงานต่าง ๆ ก็จะเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่องานนั้น ซึ่งอาจกล่าวได้ ดังนี้


1.เป็นการประกันในการดำเนินงาน โดยดำเนินงานไปตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ เช่น ด้านเวลา งบประมาณ และบุคลากร

2.ช่วยให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะเป็นการช่วยลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นซึ่งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

3. ผู้นำระบบไปใช้สามารถพิจารณาผลย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน และสามารถปรับปรุงส่วนที่บกพร่องได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนจะสามารถตรวจสอบได้ทุกส่วนย่อยในกระบวนการและสิ่งที่ป้อน

4.สามารถนำระบบที่ได้ทดลองใช้แล้ว ไปใช้ได้ในสภาพการณ์อื่นๆ โดยพิจารณาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่จะนำไปใช้ใหม่ จะช่วยในการประหยัดเวลา และการลงทุนในการสร้างระบบใหม่ขั้นทุกครั้ง


จะเห็นได้ว่า ระบบ และการจัดการระบบ ช่วยในการแก้ปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้น อีกทั้งเอื้อให้งานใดๆ ก็ตามมีประสิทธิภาพสูงขึ้น หน่วยงานต่างๆ ได้นำมาใช้พัฒนาประสิทธิภาพงาน และเช่นเดียวกับวงการศึกษาก็ได้นำวิธีระบบมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา นักการศึกษาได้ศึกษา และออกแบบระบบการสอนต่างๆ ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

ระบบการสอน
ระบบการสอน เป็นการนำเอาวิธีระบบ หรือการจัดระบบมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลที่ป้อน (Input) กระบวนการ (Process) และมีผลผลิต (Output) เช่น ระบบการสอน จะมีองค์ประกอบย่อย ๆ อาทิ เช่น ระบบครูผู้สอน ระบบนักเรียน ระบบสื่อการสอน ระบบการเลือกและใช้สื่อการสอน หรือแหล่งการเรียนรู้ ซึ่งหน่วยย่อย ๆเหล่านี้ สามารถทำงานในหน้าที่ของตนอย่างมีอิสระ แต่หากจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงภายในหน่วยย่อยๆ ต่างๆ ก็จะส่งผลกระทบถึงหน่วยย่อยอื่นๆ ด้วย


ระบบการสอนที่มีการออกแบบโดยใช้วิธีระบบ (Systematic approach) มีการทดลองใช้อย่างกว้างขวาง มีการกำหนดขั้นตอนการสอน เช่น มีการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้โดยอาศัยช่องทางต่างๆ หรือ การใช้แหล่งความรู้ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งสามารถสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน เช่น วัย เพศ และอัตราการเรียนรู้ ความสามารถทางด้านสติปัญญา ความสนใจ ความถนัด ประสบการณ์เดิม ตลอดจนพื้นฐานทางวัฒนธรรม ซึ่งครูผู้สอนและนักเทคโนโลยีการศึกษาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบพัฒนาระบบการสอน พิจารณาและมีการวางแผนร่วมกันอย่างรอบคอบ โดยบูรณาการ องค์ประกอบต่างๆ ในระบบการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการ การเรียนรู้ มีการประเมินผลย้อนกลับ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ให้ได้มาซึ่งระบบการสอนที่มีประสิทธิภาพดี ในทำนองเดียวกันก็เป็นหลักประกันในด้าน ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการเรียนรู้และนักการศึกษาได้ออกแบบ ระบบการเรียนการสอน ไว้ดังนี้


ระบบการสอนของโพเแฟมและเบเกอร์ (Popham and Baker, 1970)


โพแฟม และเบเกอร์ (James W. Popham, and Baker, 1970) ได้ออกแบบระบบการสอน โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้

1.กำหนดวัตถุประสงค์

2.พิจารณาพื้นฐานผู้เรียน

3.วางแผนกิจกรรมการเรียนการสอน

4.ประเมินผล
ระบบการสอนของเบราน์และคณะ (Brown and others, 1986)



ระบบการสอนของ เบราน์และคณะ (Brown and others, 1986) ถ้าพิจารณาระบบการสอนของเบราน์และคณะ จะเห็นว่าการออกแบบระบบการสอนนี้มุ่งเน้นผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียน และมีการวิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อที่จะสามารถจัดการเรียนการสอนซึ่งตอบสนองความแตกต่างของผู้เรียน ตลอดจนความสนใจของผู้เรียน เบราน์และคณะ ได้ออกแบบการวางแผนการสอนอย่างเป็นระบบนี้ เพื่อให้สามารถที่จะสรุปทบทวนได้อย่างง่าย และรวดเร็ว และเป็นแนวทางในการสอนและสามารถตรวจสอบได้ ประกอบด้วย องค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ คือ ผู้เรียน เป้าหมาย สภาพการณ์ แหล่งการเรียน และผลลัพธ์ ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เป้าหมาย (goals)
ในการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมก็ตามจำเป็นต้องมีจุดประสงค์ จุดมุ่งหมาย ซึ่งก็จะมีจุดประสงค์ทั่วไป เช่น สอนทักษะพื้นฐานให้ผู้เรียน และจุดประสงค์เฉพาะเจาะจง เช่น ให้ผู้เรียนเรียนรู้การสะกดคำ การอ่าน และการเขียน ซึ่งจุดประสงค์ต่างๆ เหล่านี้ จะต้องนำไปเขียนเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้านดังนี้
1.พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) เกี่ยวข้องกับ ด้านความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล
2.ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) เกี่ยวข้องกับ เจตคติ และความรู้สึกนึกคิด เช่น ความรู้สึกซาบซึ้งต่อดนตรี หรืองานศิลปะ เป็นต้น
3.ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการเล่นฟุตบอล ทักษะการพิมพ์ หรือทักษะการประดิษฐ์ตัวอักษร เป็นต้น

สภาพการณ์ (Conditions)
สภาพการณ์ หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนสามรถบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งยึดหลักการที่ว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดจากกระทำด้วยตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นหลักการสำคัญในการออกแบบการวางแผนการสอน คือ การคัดเลือกรูปแบบของประสบการณ์ และกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ในการนี้
อาจจัดรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนของผู้เรียน เช่น อาจจัดให้ผู้เรียนศึกษาเป็น กลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ หรือรายบุคคล

แหล่งการเรียน (Resources)
แหล่งการเรียนเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของการจัดการสอน ซึ่งรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่างๆ ที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ วัสดุ อุปกรณ์รวมถึงบุคลากร ครูผู้สอน ห้องสมุด ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ ผู้ช่วยสอนและอื่นๆ ซึ่งมีผลโดยตรงหรือทางอ้อมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี


ผลลัพธ์ (Outcomes)
ผลลัพธ์ที่ได้นี้จะแสดงถึงสิ่งต่างๆ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนจะมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาเป็นข้อปรับปรุงการเรียนการสอน

สรุปได้ว่าระบบการสอนของเบราน์และคณะ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ สำหรับการเรียนการสอน ซึ่งจะนำเอาแหล่งการเรียน สื่อการสอน เครื่องมือ ตลอดจนกระบวนการในการสอนและการเรียนรู้ ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ของสื่อการสอนกับสิ่งต่างๆ ดังนี้
1.จุดประสงค์และเนื้อหา
2.รูปแบบของประสบการณ์การเรียนรู้
3.การแบ่งกลุ่มการเรียนการสอน เป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็ก และรายบุคคล
4.บทบาทของบุคลากร
5.วัสดุและอุปกรณ์
6.สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
7.การประเมินผลและการปรับปรุงการเรียนการสอน
ถ้าพิจารณาจะเห็นว่าระบบการสอนนี้จะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนด้วยตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ ที่ดี และการนำแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ มาใช้ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียน ได้เรียนตามความสามารถ และอัตราการเรียนรู้ของตนเอง
ระบบการสอนของเกอร์ลาซและอีลี (Gerlach and Ely, 1980)


เกอร์ลาซ และ อีลี (Gerlach and Ely, 1980) ได้เสนอรูปแบบการสอนอย่างมีระบบ ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆไว้ 10 ประการคือ

1.กำหนดวัตถุประสงค์ (Specification of Objectives) ในการออกแบบระบบการสอน ตามทฤษฎีแล้วควรจะเริ่มโดยวัตถุประสงค์ว่า ผู้เรียนควรจะสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง

2.กำหนดเนื้อหา (Specification of Content) หลังจากผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์แล้ว ขั้นนี้จะเป็นการเลือกเนื้อหา ที่จะสามารถช่วยให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งผู้สอนส่วนใหญ่คิดว่าต้องสอนเนื้อหาต่างๆเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงการสอนเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์นั้นๆ วัตถุประสงค์และเนื้อหานั้นจะต้องมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกัน ดังนั้นบางครั้งผู้สอนอาจเริ่มจากเนื้อหาก่อนวัตถุประสงค์ก็ได้

3. พิจารณาพื้นฐานเดิมของผู้เรียน (Assessment of Entering Behaviors) ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการเรียนการสอน ผู้สอนจำเป็นจะต้องทราบความรู้พื้นฐานประสบการณ์เดิมที่ผู้เรียนมีมาก่อนเริ่มเรียนเพื่อที่ผู้สอนจะสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาก่อนที่จะวางแผนการสอนโดยการวิเคราะห์ ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual differences) ในด้านต่าง ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลได้จาก
1.บันทึกข้อมูลต่างๆ (Use of Available Records) ระเบียนสะสม ซึ่งจะบันทึกผลการเรียนด้านต่างๆ เช่น สติปัญญา การใช้เหตุผล และภาษา ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับบุคลิกภาพ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาเป็นช่วยชี้นำอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนการสอน
2. แบบทดสอบที่ผู้ทดสอนสร้างขึ้น (Teacher - Designed Pretest) เพื่อทดสอบดูว่าผู้เรียนได้เรียนรู้ นิยาม มโนมติ ทักษะต่างๆในเรื่องที่จะสอนนี้มาแล้วหรือยังกระบวนการนี้เป็นประโยชน์ทั้งด้านการตรวจสอบก่อนการเรียน ผู้สอนจะได้ทราบความสามารถของผู้เรียน (Learners' abilities) ความถนัด (Aptitudes) จะเป็นข้อมูล เพื่อใช้ในการแนะนำผู้เรียน อีกทั้งยังใช้ในการวางแผนในการจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ในอนาคต

4.เลือกยุทธศาสตร์และเทคนิคการสอน (Determination of Strategy and Techniques) ยุทธศาสตร์ คือวิธีการที่ครูใช้ในการให้ข้อมูลในการเลือกแหล่งการเรียนรู้ และระบุบทบาทของเรียน รวมถึงการปฏิบัติเฉพาะ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การบรรยาย (Expository Approach) จะเป็นวิธีการสอนแบบดั้งเดิมที่จะเน้นครูเป็นผู้นำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่มักจะใช้ตำรา วัสดุ โสตทัศนวัสดุ และประสบการณ์ของผู้สอน เช่น การบรรยาย อภิปราย การใช้ภาพยนตร์
2. วิธีการสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry Approach) วิธีการนี้บทบาทของครูจะเป็นผู้อำนวยการในการจัดประสบการณ์ โดยการตั้งคำถาม สร้างเงื่อนไขให้ผู้เรียนได้เสาะแสวงหาคำตอบในการแก้ปัญหาโดยใช้ ข้อมูล ตำรา หนังสือ วัสดุ ผู้เรียนจะต้องพยายาม รวบรวม (Organize) จัดระบบข้อมูล ความรู้ต่างๆ โดยผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมด้วยตัวเอง (Active participations) ในที่สุดจะได้เป็นข้อสรุป ที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนการดำเนินการเรียนการสอนได้ อาจใช้ทั้งวิธีการบรรยาย และการสืบเสาะหาความรู้ควบคู่กันไปก็ได้

5.จัดกลุ่มผู้เรียน (Oganization of Students into Groups) ในการจัดการเรียนการสอนนั้น เมื่อตั้งวัตถุประสงค์ เลือกเนื้อหา ตรวจสอบพื้นฐานเดิมแล้ว ควรจะพิจารณาถึง วัตถุที่ต้องการให้ผู้เรียนบรรลุนั้น โดยการเรียนร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก หรือโดยการบรรยายเป็นกลุ่มใหญ่ หรือเป็นรายบุคคล ระหว่างครูและกลุ่มผู้เรียนเท่านั้น ควรจะพิจารณา วัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการเรียน และการจัดกลุ่มผู้เรียนไปพร้อมกัน

6.กำหนดเวลาเรียน (Allocation of Time) ในการเลือกยุทธวิธี เทคนิค่างๆนั้นจะมีผลต่อการกำหนดเวลาที่จะเรียน เช่น เนื้อหาวิชา วัตถุประสงค์ สถานที่ที่จะเรียน รูปแบบการบริหาร ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน สิ่งเหล่านี้จะนำมาใช้ในการพิจารณาเลือก และกำหนดเวลาเรียนที่เหมาะสม

7.กำหนดสถานที่เรียน (Allocate of Learning Space) ในการจัดสถานที่เรียนนั้น จะขึ้นอยู่กับขนาดของกลุ่มผู้เรียน วิธีการสอน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท
1. ห้องสำหรับกลุ่มใหญ่ เรียนได้ครั้งละ 30-50 คน
2. ห้องขนาดเล็ก ใช้สำหรับการเรียนการสอนกลุ่มย่อย หรือการอภิปราย
3. ห้องเรียนแบบรายบุคคล อาจเป็นศูนย์สื่อที่จัดไว้สำหรับเรียนเป็นรายบุคคล

8.การกำหนดแหล่งการเรียนรู้ (Allocation of Resources) หลังจากที่ผู้สอน ได้กำหนดวัตถุประสงค์ เนื้อหา วิธีการสอน ขนาดของกลุ่มผู้เรียนแล้ว ผู้สอนจะต้อง เลือกแหล่งการเรียน หรือสื่อการสอน เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งได้แก่ ภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหว โทรทัศน์ ของจริง สื่อบุคคล หุ่นจำลอง สถานการณ์จำลอง และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นต้น

9.ประเมินผล (Evaluation of Performance) เป็นการประเมินผลพฤติกรรม ของผู้เรียน อันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือ ผู้เรียนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับสื่อการสอน การประเมินผลเป็นส่วนสุดท้ายในการวางแผนรูปแบบการสอนที่ยึดวัตถุประสงค์เป็นหลัก

10. วิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับ (Analysis of Feedback) หลังจากที่ได้ประเมินผลการเรียนการสอนแล้วจะทำให้ทราบว่า การเรียนการสอนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ มากน้อยเพียงใด หากมีข้อบกพร่องก็สามารถวิเคราะห์ผลแล้วย้อนกลับมาเพื่อพิจารณาองค์ประกอบย่อยต่างๆ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขระบบการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควรวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับให้รวดเร็วที่สุด มิใช่เพียงเฉพาะผู้สอนเท่านั้นแต่รวมถึงผู้เรียน ซึ่งได้มีผลการวิจัยเสนอไว้ว่าการให้ผลย้อนกลับที่ล่าช้าจะมีผลทำให้การเรียนรู้ลดน้อยลงดังเช่น บทเรียนโปรแกรมเป็นการประยุกต์เรื่องการนำผลย้อนกลับมาใช้ได้ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

ท้าย

ท้าย